
DR (Depositary Receipt) คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นตราสารชนิดใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนในไทยที่ต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือ ETF ต่างประเทศได้โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำให้การถือครอง DR จึงเป็นเหมือนการถือครองหลักทรัพย์นั้นๆ ในทางอ้อม โดยที่ทำให้ผู้ถือจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ เสมือนกับการยกหุ้นต่างประเทศหรือกองทุน ETF ต่างประเทศที่น่าสนใจเป็นตัวๆ มาให้แก่นักลงทุนในประเทศได้ซื้อขายกันง่ายๆ ในรูปแบบของตราสาร DR ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรานั่นเอง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเพิ่มบทบาทและความเชื่อมโยงกันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกันนั่นเอง
ผลตอบแทนจากการลงทุนของ DR
การที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ DR มีสองส่วนใหญ่ๆ เหมือนหุ้นไทยทั่วไป ส่วนแรกคือรูปแบบของ “กำไรจากส่วนต่างของราคา” DR โดยกำไรจากการซื้อขายก็ไม่เสียภาษีเพราะเป็นการซื้อขาย DR ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้น และ DR ก็ไม่มีวันหมดอายุ และส่วนที่สองคือรูปแบบของ “เงินปันผล” โดยหาก การที่ถือครอง DR -องหุ้นต่างประเทศใดๆ แล้วหุ้นนั้นมีการจ่ายเงินปันผลหรือให้สิทธิประโยชน์ ผู้ออกจะนำส่งเงินปันผลหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้น หลังหักค่าใช้จ่ายของการดำเนินการ (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือ DR ตามที่ระบุไว้ในสัญญารับฝาก ซึ่งโดยทั่วไปก็จะแค่เทียบเคียงเท่านั้น ไม่เทียบเท่ากับการลงทุนตรงอยู่แล้ว ซึ่งเพื่อนๆควรที่จะต้องต้องศึกษา และทำความเข้าใจก่อนลงทุน DR ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเลือกลงทุนใน DR ก็คือ ต้องทำความรู้จักหลักทรัพย์ต่างประเทศของ DR ว่าเป็นหุ้นอะไร ? ทำธุรกิจอะไร ? มีแนวโน้มอย่างไร ? ความถูกแพงเป็นอย่างไร ? มีความเสี่ยงอย่างไร ? หรือถ้าเป็น ETF ดัชนีหุ้นต่างประเทศก็ควรต้องดูว่า ETF นั้นเป็นตะกร้าหุ้นที่อ้างอิงก้บดัชนีอะไร ? แนวโน้มผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นอย่างไร ? ซึ่งหลังจากนั้นเพื่อนๆ ควรศึกษา เงื่อนไขของ DR จากสัญญารับฝาก เป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้ลงทุนที่จะลงทุนใน DR เนื่องจากในสัญญารับฝาก ผู้ออกจะระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกที่มีต่อผู้ถือ DR สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือ DR จะได้รับ ค่าใช้จ่ายที่จะเก็บจากผู้ถือ DR รวมถึงการดำเนินการของผู้ออกเมื่อหลักทรัพย์ต่างประเทศเกิดเหตุการณ์สำคัญ เป็นต้น และที่สำคัญที่ควรดูคือ โครงสร้างของ DR แต่ละตัวและผู้ออก DR เนื่องจากผู้ออก DR เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่างๆ ของ DR ตามที่ระบุในสัญญารับฝาก ดังนั้น ผู้ลงทุนควรพิจารณาความน่าเชื่อถือ หรือความสามารถในการให้บริการต่างๆ ของผู้ออกประกอบด้วย และยิ่งถ้ามีการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้เพื่อนๆมั่นใจได้ว่า DR นั้นๆ น่าจะมีความเคลื่อนไหวสอดคล้องกับมูลค่าที่ยุติธรรมของหลักทรัพย์ต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ดังนั้น DR จึงเหมาะกับผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ โดยที่ไม่มีเวลาหรือไม่ต้องการความยุ่งยากในการเปิดบัญชีลงทุนตรงในหุ้นต่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการสถานะเงินตราต่างประเทศ ภาษีจากการลงทุน การติดตามข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการออก DR ของหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ลงทุนกันแต่อย่างใด แต่ในอนาคตน่าจะเริ่มมีกันให้เห็นบ้าง ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกของการลงทุนที่ดีเพิ่มให้กับนักลงทุนบ้านเรา